California-Look Part 6

          ผลตอบรับของบทความที่เขียนมา ค่อนข้างได้รับความสนใจดี ผมเลยมีกำลังใจที่จะหาข้อมูล และเกร็ดความรู้ในเรื่อง Cal Look มาให้เพื่อนๆสมาชิกได้อ่านกันต่อไปเรื่อยๆครับ...

          ตอน นี้ ตอนที่ 6 แล้วนิ ตอนที่แล้ว เราผ่านเรื่องภายในไปได้พอสมควรแล้ว เหลือค้างนิด ๆ หน่อย ๆ ก็เป็นเรื่องของ เบาะ แผงข้าง และอุปกรณ์ภายในอื่น ๆ..

          เรื่องของเบาะ ก็ยังคงใช้แนวความคิดในแบบเรียบ ๆ เน้นดูดีครับ เดิม ๆ สแตนดาร์ดเนี่ยใช้ได้เลย ลายเดิม ๆ ตรงปีของรถ ดูให้ตรงรุ่นนะครับ เรื่องลายเดิมๆนี่ผมคงไม่ต้องอธิบายรายละเอียดนะครับ สงสัยตรงไหน ให้ไปถามนายสามพีเอาครับ ข้อมูลตรงนี้แกมีเยอะ... [ ppp :-) ]



แต่ถ้าอยากให้ดูแบบไม่เดิม และต้องตามแนวทางการแต่งแบบนี้ ก็คงต้องให้ช่างเบาะ Custom made ให้หล่ะครับ แต่ในแบบ Cal Look เขาก็จะมีแนวทางในการเลือกลายและสีอีกเหมือนกัน..

 

ใช้โครงเบาะเดิมมาหุ้มใหม่ก็ได้ครับ ถ้าเป็นคอ Cal Look ขนานแท้และดั้งเดิมในยุค 70 มักจะนิยมลายเบาะที่มีชื่อเสียง ของนาย Don Bradford ชาวโฟล์คในยุคโน้นเรียกลายนี้ว่า ขนมปังอ้วน หรือ fat biscuit ( Don Brad Bradfords fat biscuit style)


          ลายนี้ถือเป็นลายยอดนิยมเลยครับ ลองสังเกตดูครับ จากหลาย ๆ คันในยุคก่อน ลายนี้เล่นไม่ยากครับ ช่างเบาะบ้านเราเห็น บอกได้ว่าหวานหมูมาก ลองย้อนกลับไปดูตอนสอง ภายในของนาย Jim อ่ะครับ ลายสีเหลี่ยมจัตุรัส หรือถ้าจะยืดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าก็ได้ แต่อย่าให้ออกแนวยาวมากเกินไป ใช้ได้ทั้งเบาะและแผงข้างเลยครับเจ้าลายขนมปังอ้วนเนี่ย..


 

อีกลายนึงที่เคยเห็นบ่อย ๆ ก็คือลาย สี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดครับ อันนี้ก็สวย ดูย้อนยุคดีครับ..

          ส่วน เรื่องสีภายในนั้น เหมือนเดิมครับ เรียบขรึม ดำ เทา น้ำตาล อะไรทำนองนี้แหล่ะครับ ใช้ทูโทนได้ครับ แต่ดูอย่าให้สีตัดกัน เน้นให้ดูกลมกลืนหน่อย เช่น ดำกับเทา ครีมกับน้ำตาล อย่างนี้ได้ครับ ไอ้สีฉูดฉาด ส้มสะท้อนแสงกับน้ำเงินแปร๋น นี่ต้องถอยให้ห่างครับ สีหวาน ๆ เขียวนมเย็น เหลืองใส่นมนี่ก็ไม่ได้นะครับ เหมือนเลือกสีภายนอกอ่ะครับ..

          วัสดุ ที่ใช้เป็นพวกไวนีลครับ หนังแท้ก็พอมี แต่อย่าลืม อย่าให้ดูหะรูหะรานัก ไวนีลลายสก็อตแบบเรียบ ๆ ก็ได้นะครับ เป็นผ้าหรือกำมะหยี่ก็พอได้ครับ เลือกสีให้กลมกลืนหน่อย..

 

          ถ้าเบื่อเบาะเดิม ก็เปลี่ยนเป็นเบาะทรงสปอร์ทได้นะครับ แบบที่ปรับได้ ถ้าอยู่ในอเมริกา ก็มีของ Scat แต่ดูอย่าให้ใหญ่โตเทอะทะนัก บ้านเราง่าย ๆ เบาะ BMW ซีรี่ส์ 3 รุ่นเก่าก็พอได้ครับ รูปทรงกำลังสวย เพรียวบางดี ไม่ดูทันสมัยเกินไป ของเก่าจากเชียงกงญี่ปุ่นดูสไตล์ให้ดี ๆ นะครับ บางทีดูทันสมัยเกินไป ใส่ไปแล้วอย่าให้ดูขัดตาเป็นใช้ได้ แต่คงต้องนำมาเปลี่ยนวัสดุหุ้ม ลาย และสีเสียใหม่ ให้เข้ากับแผงข้าง หรือถ้าหาของเก่าได้เก่ง ๆ ลองไปหาของพอร์เช่ 356 ให้ดูเก๋าๆหน่อย อย่าให้มีไซด์ซัพพอร์ทใหญ่โตมากนัก อย่างพวก Sparco หรือ Recaro รุ่นใหม่ ๆ นี่ไม่ได้นะครับ เก็บไปให้พวก German Look เค้าใส่กันเหอะ..


 

          เบาะแบบแข่ง ปรับไม่ได้ ก็ใช้ได้ครับ แต่ต้องหาทรง แบบรุ่นเก่าๆหน่อย เป็นบักเก็ตซีทแบบ ประคองเอวก็พอ ไม่ต้องมีประคองไหล่ ประคองหัว แบบเบาะรุ่นใหม่ ๆ เพราะรถแบบ Cal Look นี้เน้นทางตรงอย่างเดียว ไม่ต้องไปใส่แรง ๆ ตามโค้งแบบรถเซอร์กิต อย่างแบบที่ผมใส่แข่งที่พีระเมื่อปีก่อนนะครับ อันนั้นสำหรับรถแดร็กอย่างเดียวเลย ซึ่งจริง ๆ แล้วใส่ขับเซอร์กิตไม่ดีครับ เมื่อยหัวไหล่และเอว เพราะไม่ได้ออกแบบไว้ ผมเอามาใช้งานผิดประเภท ตอนหลังเลยต้องหาแบบเซอร์กิตแท้มาใส่ ค่อยสบายตัวหน่อยครับ สำหรับ เบาะบางแบบรุ่นเก่า ๆ ที่ไม่มีหมอนรองศรีษะดูเล็กและสวยเข้ายุคสมัยดีครับ..

 

          อุปกรณ์อีกอย่างนึงที่น่าสนใจ แต่จริง ๆ แล้วไม่ค่อยมีใครพูดถึง ก็คือ เจ้า Rollcage หรือ ว่ากันแบบภาษาไทยที่เราเรียก ๆ กันก็คือ โรลล์บาร์ อ่ะครับ ถ้าเป็นคอ Cal Look แท้ ๆ หล่ะก็ เค้าจะใส่ตามแบบที่ NHRA กำหนดคือทำแบบ รถโฟล์คแดร็กอ่ะครับ เค้าจะบอกไว้ว่ารถวิ่งเวลาเร็วเท่านี้ ต้องใส่แบบไหน กี่จุด ว่ากันตามความเร็วของเวลาที่วิ่ง ยิ่งเร็วมาก ยิ่งต้องแข็งแรงมาก ..

 

          ถ้าจำไม่ผิดนะครับ รถที่วิ่งเร็วกว่า 11.99 วินาที ต้องใส่แล้วครับ ไม่งั้นลงวิ่งไม่ได้ เดี๋ยวนี้วงการ Cal Look ในยุโรปและอเมริกาเฟื่องฟูมากครับ มีการจัดแข่งแดร็กเรซซิ่งรุ่นพิเศษ คือมีรุ่นรถ Cal Look ที่สามารถวิ่งบนท้องถนนได้ (Street legal) มาแข่งกัน ว่ากันง่าย ๆ แบบบ้านเราก็คือ เอารถบ้านมาแข่งอ่ะครับ ตัวถังเหล็ก อุปกรณ์ครบตามกฏหมาย มีทะเบียนถูกต้อง คือวิ่งตามท้องถนนได้โดยตำรวจไม่จับอ่ะครับ..

          ขับมาถึงสนามแข่ง เปลี่ยนยางหลังเป็น ยางแดร็กสลิค ถอดหม้อพักออก ใส่หางหนู (Stinger) ถอดสายพานเครื่องออก แล้วแข่งได้เลย ตามตำนานเก่าที่ นาย Gary Berg (ลูกชายคนโตของปู่ Gene Berg) เคยทำเอาไว้เมื่อยี่สิบเจ็ดปีก่อนโน้น ในงานโฟล์คที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก คืองาน Bug-In ครั้งที่ 22 (1979) ครั้งนั้น นาย Gary ไม่ได้รางวัลชนะเลิศนะครับ แต่เวลาที่ทำได้คือ 12.40 วินาที ได้เข้ารอบลึกๆ ชนะรถที่ทำมาสำหรับแข่งโดยเฉพาะมาหลายคัน แข่งเสร็จเปลี่ยนอุปกรณ์กลับ ขับกลับบ้านได้เลย เหตุการณ์ครั้งนั้น แสดงให้เห็นว่ารถโฟล์คแต่งที่วิ่งใช้งานตามปกติ (Daily driver) สามารถนำมาแข่งในสนามได้เลย และทำเวลาได้ดีพอสมควรซะด้วย..

          นอกเรื่องไปอีกแล้วครับท่าน แฮ่ะ ๆ ตามตำนานที่ว่ามา ชาว Cal Look รุ่นหลัง ที่มีเครื่องแรง ๆ มักจะชอบที่จะนำ โรลล์บาร์ มาประดับไว้ เพื่อเป็นไปตามกฏความปลอดภัยในสนามแข่ง หน้าตาของโรลล์บาร์ แบบที่ว่านี้ อย่างต่ำมักจะเป็นแบบ 6 จุด ด้านหลังเป็นแบบ 4 จุดเต็ม ด้านหน้า 2 จุดแบบกึ่งหนึ่ง คือมีแค่พาดจากช่วงหัวไหล่ไปถึงเท้า ในแนวเฉียง ลองพิจารณาดูตามรูปครับ..

 


เที่ยวนี้ ก็จบแล้วครับสำหรับเรื่องภายใน แบบคร่าว ๆ ล่อซะสองตอนเต็ม ๆ ...

          เพื่อน ๆ สมาชิก ถ้าสงสัยตรงจุดไหน ถามเข้ามาได้นะครับ ในเวบบอร์ด ผมอยากให้วงการรถโฟล์คบ้านเรา มีรถโฟล์คที่แต่งตามสไตล์แต่ละสไตล์ ไม่ว่าจะเป็น Cal Look , Resto-Cal , German Look หรือ Japanese Lookสวย ๆ และแต่งได้ถูกต้องตามแบบฉบับที่ทั่วโลกเค้านิยมกัน ไม่ใช่แต่งรถออกมาแล้วเลอะเทอะ ชอบแบบตามใจแฟชั่น เอาไอ้โน่นมาใส่ เอาไอ้นี่มาใส่ ไม่มีแนวทางที่ชัดเจน เหมือนที่พวกผมแต่งกันในสมัยก่อน เสียเงินเสียทองไปโดยไม่มีจุดหมาย กว่าจะค้นพบก็เสียเวลากันไปหลายครับ..

 

          ตอนหน้า โอย..ย สนุกครับ ของชอบเลย เรื่องของสมรรถนะ การตกแต่งเครื่องยนต์ ลุคส์ของห้องเครื่อง ขอเวลาหน่อยนะครับ รายละเอียดมีเยอะมาก ไม่อยากเขียนให้ตกหล่น ตอนนี้ขอไปพักผ่อนก่อนเด้อ..

ขอให้สนุกกับการเล่นรถโฟล์คครับ..

----------------------------------------------------------------------------------------------------------
Part 1 | Part 2 | Part 3 | Part 4 | Part 5 | Part 6 | Part 7 | Part 8 | Part 9
----------------------------------------------------------------------------------------------------------